Saturday, November 23, 2019

บอกเล่า ผลกระทบ สมการมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์


บอกเล่า ผลกระทบ สมการมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์
หลังจากที่ ผู้เขียนได้ นำเสนอเรื่องที่ว่า มี สมการมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์ 1 ใน 2 ตัว ที่ผู้เขียน มีอยู่นั้น ไม่ถูกต้อง และได้ฟันธงออกไปแล้วว่า เป็นแบบ ที่ไม่มีพจน์ 373/800 อยู่ในสมการนั้น
เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาดู ข้อมูลที่เผยแพร่กันอยู่ตามเวบไซต์ต่างๆ พบว่า
มีผลกระทบที่เกิดจาก ความไม่ถูกต้องของสมการมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์ แน่นอนแล้วอย่างน้อยๆก็ใน เวบไซต์แห่งหนึ่งของท่านผู้รู้อีกท่านหนึ่ง ที่แม้ท่านจะออกตัวว่า เป็นค่าจากสมการที่ไม่มีการตัดประมาณค่าและไม่ใช่ค่าในเชิงคตินิยมที่คำนวณกันโดยทั่วไป แต่เนื่องจากไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงของการตัดให้ พจน์ 373/800 หายออกไปเฉยๆจากสมการ เหลือเพียงแค่ค่า 3/60 องศา แค่นั้น ได้ ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขอฝากไว้ให้เป็นวิจารณญาณ ของแต่ละบุคคลและแต่ละท่าน สุดแต่จะพิจารณากันเอาเองก็แล้วกัน สำหรับเราผู้น้อยนั้น ไม่อาจจะไปเทียบเคียงหรือคัดง้างใดๆกับท่านเหล่านั้นอันเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ได้ เพราะสมการตัวที่ถูกตัดพจน์ 373/800 ออกไปนั้น ก็มีแพร่หลายกันมานานได้สักพักหนึ่งแล้ว อาจมีใครนำเอาไปใช้ แล้วได้ผลดี ก็เป็นได้ เลยไม่อยากที่จะไปคัดค้านใดๆ อะไร กับใคร
แต่สำหรับ ที่แห่งนี้ ผู้เขียน คงจะปล่อยให้สิ่งนี้ ผ่านไป ไม่ได้

ดังนั้น สมการมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์ที่จะเห็น และมีบันทึกไว้ในเวบไซต์แห่งนี้ จึงเป็นสมการที่มี พจน์ 373/800 รวมอยู่ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามความหมายและนิยามอันมีมาแต่เดิม ของการสร้างกฎเกณฑ์การคำนวณนี้ขึ้นเพราะใช่ว่า เราจะละเลยในแง่ของประวัติศาสตร์ต้นทางของการสร้างกฎเกณฑ์การคำนวณขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเลยตำแหน่งดาวที่มีมาตั้งแต่ต้น ซึ่งดูยังไง ก็ไม่ใช่การตัดประมาณค่าแน่ๆ
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วผลที่ได้จากการคำนวณเปรียบเทียบกับแบบที่ไม่มีพจน์ 373/800 ห่างกันเยอะไหม มากน้อยหรือไม่ ประการใด
คำตอบของคำถามนี้ คือ มีตั้งแต่ ผิดมาก ระดับองศาขึ้นไป กับ ผิดแตกต่างกันจิ๊บๆ เพียงแค่ในระดับลิปดาเพียงเท่านั้น
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะว่า คุณต้องมีความเข้าใจถึงเรื่องของ หรคุณที่ถูกต้อง กันเสียก่อน
หากไม่เข้าใจเสียแล้ว การวางหรคุณลงไป ผิดจุด จะทำให้ผลการคำนวณทั้งหมด ผิดไปทันที โดยไม่ทราบสาเหตุและที่มาของมันอย่างชัดแจ้ง
คือ ต้องไม่ลืมว่า จริงๆแล้ว หรคุณของสุริยยาตร์นั้น เมื่อทำตามเกณฑ์ในตำรา คือ หารได้เท่าใด ลัพธ์บวกด้วย 1 เศษที่เหลือ ยกให้เป็นกัมมัช ไป
แปลว่า เลขหรคุณที่ได้นั้น จะมีอยู่สองตัว ตัวหนึ่ง คือ ตัวที่ยังไม่บวก 1 กับอีกตัวคือ บวก 1 เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ หรคุณทั้งสองตัวนี้ เฉพาะเวลาเถลิงศก จะมีชื่อเรียกหรคุณนี้ ที่ต่างกัน กล่าวคือ ตัวแรก จะถูกเรียกว่า หรคุณก่อนเถลิงศก และ อีกตัวหนึ่งถัดมา คือ หรคุณที่พวกเรารู้จักกันดี นั่นคือ หรคุณเถลิงศก
แต่ในตำราของท่านอาจารย์ พลตรี บุนนาค ทองเนียมนั้น ท่านจะใช้ชื่อเรียกต่างกันนิดหน่อย แต่ดูแล้วก็เข้าใจได้ง่ายกว่า โดยท่านจะเรียกหรคุณตัวแรกก่อนการบวกหนึ่งว่าเป็น หรคุณ ก่อนเถลิงศก 0 น. หรือ หรคุณ 0 น. (ทั้งนี้ น่าจะอ้างอิงมาจากการนับที่นิยามจากการเริ่มนับ ณ เวลาเที่ยงคืนหรือ 0 นาฬิกา) กับอีกตัวหนึ่ง  ก็คือ หรคุณเถลิงศก ที่บวก 1 ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ เมื่อมีการปรับเป็นการหาหรคุณ ณ วันใดๆ จะเรียกชื่อได้ออกมาเป็น หรคุณ 0 น. วันประสงค์ กับ หรคุณ วันประสงค์  ที่คนทั่วไป อ่านแล้ว เห็นแล้ว ทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า โดยค่าของหรคุณทั้งสองตัวนั้น มีค่าที่ต่างกันอยู่ 1 นั่นเอง
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ เพราะเมื่อเกิดการแปลงค่า จากหรคุณในแบบอื่นๆ มาสู่สุริยยาตร์ ต้องดูให้ดีว่า ค่าที่ได้มานั้น เป็นหรคุณตัวไหน แต่โดยส่วนใหญ่ เท่าที่พิจารณาดู จะเป็นหรคุณที่บวกด้วย 1 ไปแล้ว เป็นส่วนมากหรือ หรคุณวันประสงค์ นั่นเอง (ถ้าไม่คิดเศษทศนิยมเวลา)
แต่ สิ่งที่จะแจ้งให้ทราบต่อไปนี้ อาจจะทำให้ทุกคนช๊อค กล่าวคือ สมการมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์ที่มีอยู่ ทั้งแบบไม่มีพจน์ 373/800 และ แบบที่มีพจน์ 373/800 นั้น ไม่ได้ใช้ หรคุณที่บวกด้วย 1 หรือหรคุณวันประสงค์ แต่ใช้หรคุณก่อนการบวกด้วย 1 หรือหรคุณเที่ยงคืน(0 น) วันประสงค์ แทนค่าตลอดทั้งสมการ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก การกำหนดให้ หรคุณที่ว่านั้นอยู่ในรูปแบบของจำนวนจริง และการกำหนดจุดนับ นั่นเอง
ทำให้ หรคุณ ที่ได้ จะอยู่ในลักษณะ hd ที่เป็นจำนวนเต็ม + เศษทศนิยม(ซึ่งก็คือ ทศนิยมเวลา นั่นเองแหละ)
ซึ่งจะไม่เหมือนกับ หรคุณกับเศษ ในนิยามเดิม ที่เอา หรคุณบวกด้วย 1 แล้วที่เหลือยกเป็นเศษไป ถึงแม้จะสามารถปรับแต่ง แก้ให้กลับมา มีค่าที่เท่ากันกับ hd+เศษทศนิยมเวลา ก็ตาม
แต่ถามว่า จะมีใครสักกี่คน ที่เฉลียวใจ !!!
เพราะส่วนใหญ่ พอคำนวณได้ ค่าหรคุณจำนวนเต็มมา ก็ใส่ค่าเข้าไป คำนวณกันเสร็จสรรพ เรียบร้อย และมันก็จะเรียบร้อยเข้าจริงๆ นั่นเพราะว่า มันผิดน่ะสิครับ
กลับไปลองทบทวนดูกันให้ดีๆก็แล้วกัน สำหรับใครที่ใช้งานมันอยู่ 
มิเช่นนั้นแล้ว ผลลัพธ์ที่มี จะกลายเป็นผิดสองเด้ง หรือ double error ขึ้นมาทันที
ฝากไว้เพียงเท่านี้ก่อน สวัสดี.




No comments:

Post a Comment