Saturday, November 16, 2019

เรื่องเล่า ตำนานสุริยยาตร์ ที่มาของเกณฑ์เลข 373

เรื่องเล่า ตำนานสุริยยาตร์ ที่มาของเกณฑ์เลข 373
จากตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึง เรื่องของ สงกรานต์ กับคัมภีร์สุริยยาตร์ ว่าเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกันในแง่ใด
ซึ่งสรุปออกมาแล้วว่า เกี่ยวพันกันในเรื่องการย้ายราศีของอาทิตย์จากมีนสู่เมษ การกำหนดจุดคำนวณที่เวลาเที่ยงคืน และเรื่องของเวลาขณะเถลิงศก ณ จ.ศ. 0
โดยมีตัวเลขประกอบเกณฑ์ ขณะเถลิงศก ณ จ.ศ. 0 คือ 373 และแปลงเป็นเวลาได้เท่ากับ 11:11:24 นาฬิกา
ในตอนนี้ เราจะมาดูถึง ที่มาของเกณฑ์เลข 373 นี้ ว่า มันมีที่มาจากอะไร
สำหรับที่มาของข้อมูลนั้น เริ่มต้น มาจาก 2 แหล่ง กล่าวคือ จาก เวบไซต์ ต่อไปนี้
    1. http://jyotish-thailand.blogspot.com/2015/04/1.html
    2.กระทู้จากเวบ payakorn.com/webboard หมายเลขที่ 2125
ผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูล ในข้อที่ 1 คือ คุณ jyotish
ส่วน ข้อที่ 2 เป็นข้อมูลในเวบบอร์ด เป็นการถามตอบกันระหว่างคุณ เกตุ๙
และผู้ตอบคำถาม คือ คุณพลังวัชร์
สำหรับขั้นตอนการคำนวณและมูลเหตุนั้น ในแต่ละแหล่งข้อมูล เป็นดังรายละเอียดถัดไป

จากแหล่งข้อมูลข้อที่ 1 ตัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวไว้ตามนี้
ในคัมภีร์สุริยะสิทธานตะยังกล่าวต่อไปอีกว่า ใน 4,320,000 ปีมนุษย์ที่ผ่านไปนี้ พระอาทิตย์โคจรรอบโลก (มีจำนวนวันเมื่อนับจากพระอาทิตย์) ทั้งสิ้น 1,577,917,828 วัน ดังนั้น 1 ปีจึงมีเท่ากับ 
 1,577,917,828 / 4,320,000 = 365.258756481481... 
หรือก็คือ 365 วัน 6 ชั่วโมง 12 นาที 36 วินาที 33 เศษวินาที 36 เศษของเศษวินาที แลดูเยอะเกินไปเราจึงขอตัดเพียง 365.25875 มาเท่านั้น 
 การคำนวณปฏิทินดาราศาสตร์แบบอินเดียนั้น จะต้องเริ่มจากสิ่งที่เรียกว่า อหรคณะ หรือที่คนไทยเรียกว่า "หรคุณ" คำว่า อหระ มาจากภาษาสันสกฤต คือ อโหรตระ แปลว่าเวลาเต็ม 1 วัน 1 คืน หรือ 24 ชั่วโมง ส่วนคำว่า คะณะ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า การนับจำนวน เมื่อรวมกันเป็น อหรคณะ แปลว่า การนับจำนวนวันเต็ม โดยเริ่มต้นนับจากปีที่เข้ากลียุคเป็นต้นมา เมื่อได้จำนวนวันดังกล่าวแล้ว เขาก็จะนำอัตราการโคจรของดาวต่าง ๆ มาทำการหารกับจำนวนวันที่ผ่านไป ตัดทอนลงจนกลายเป็นตำแหน่งดาวในแต่ละปีหรือแต่ละวันของปีที่ผ่านไป เพราะคนโบราณมองว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ไล่เรียงตั้งแต่พระอาทิตย์ไปจนถึงพระเสาร์นั้น จะโคจรมาตรงกันที่ 0 องศาในราศีเมษทุก ๆ 4,320,000 ปี ในสัตยะยุคจะวนครบรอบทั้งหมดประมาณ 4 รอบจึงจะเปลี่ยนยุค ในเตรตะยุคจะวนครบรอบประมาณ 3 รอบ ในทวาปะระยุคจะวนครบรอบ 2 รอบและในกลียุดจะวนเพียงแค่รอบเดียว หรือจำง่าย ๆ ว่า 4 3 2 1 รวมเป็น 10 รอบ 
 ส่วนต่อมาเราต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละศักราชนั้น มีจุดเริ่มต้นสตาร์ทไม่เหมือนกัน เช่น
คริสตศักราช เกิดขึ้นหลังจากที่เข้ากลียุคมาแล้ว 3,101 ปี พุทธศักราชเกิดขึ้นเมื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 2,558 ปี (เกิดจากการเอา 3,101 - 543) สกศักราชหรือศักราชประจำชาติอินเดียเกิดขึ้นเมื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 3,179 ปี และสุดท้ายจุลศักราชเกิดขึ้นเมื่อเข้ากลียุคมาแล้ว 3,739 ปี (กลียุคของพุทธ 2,558+1181) เมื่อเราทราบกลียุคไปแล้ว จะเห็นว่าวิธีการง่าย ๆ เลยก็เอาวัน (365.25875) คูณเข้าไปกลายเป็นอหรคณะ จากนั้นหารด้วยอัตราการโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวง เราก็จะทราบว่าในจุด "เริ่มต้น" ปีนั้น ดาวดวงใดอยู่ตำแหน่งใดบ้าง 

 ทีนี้มาที่วิธีการคิดหรคุณแบบสุริยยาตร์ อันเริ่มจากการนำจุลศักราช มาคูณด้วย 292,207 หารด้วย 800 บวกด้วย 373 ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ประการแรก เมื่อนำจำนวน 292,207 มาหารด้วย 800 จะได้เท่ากับ 365.25875 พอดี นั่นก็หมายความว่า 292,207/800 เป็นตัวแทนของเลข 365.25875 นั่นเอง ส่วน 373 ที่มาบวกนั้นเพราะว่า เมื่อนำกลียุคที่ 3,739 มาคูณด้วย 292,207 หารด้วย 800 มันเหลือเศษ 373 หรือพูดได้ว่า 373 นี้คือตัวตั้งต้นนับกลียุคที่ 3,739 ของจุลศักราชนั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อโหราศาสตร์ไทย รับผ่านมาทางพม่า เราเลยใช้จุลศักราชของพม่าในการคำนวณ
 
ในส่วนของข้อมูลที่อยู่ในกระทู้ 2125 นั้น มีทั้งการตัดคำนวณออกมาเป็นตัวเลขทศนิยมเวลา และ วิธีการคิดเลขเกณฑ์คำนวณด้วย เป็นดังนี้

เริ่มต้นจากผู้ถามก่อนคือ คุณเกตุ๙

13. เกตุ๙ [210.163.144.211] 05 Feb 2004 - 21:41 
เรียนคุณพลังวัชร์ และท่านผู้รู้ท่านอื่นๆครับ ผมอ่านตามที่คุณพลังวัชร์อธิบาย และมีข้อสงสัยดังนี้ครับ 
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 
จากคำอธิบายวิถีหา หรคุณเถลิงศก 
๑. หรคุณเถลิงศก ให้ตั้งเกณฑ์ ๒๙๒๒๐๗ ลง เอาจุลศักราชปีกำเนิดคูณ แล้วเอาเกณฑ์ ๓๗๓ บวก เอา ๘๐๐ หาร ได้ลัพธ์เท่าใดเอา ๑ บวก ผลสำเร็จเป็นหรคุณเถลิงศก +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 
ผมขอเรียนถามว่า ตัวเลข ๒๙๒๒๐๗ ๓๗๓ ๘๐๐ มีความหมายว่าอะไรครับ 
เป็นความเร็วดาวเฉลี่ยที่โคจรได้ใน๑วัน หรือ เป็นตำแหน่งดาวเริ่มต้น ...หรืออื่นอะครับ รบกวนช่วยอธิบาย พอเป็นความเข้าใจอะครับ ขอบคุณมากครับ 
เกตุ๙ 

สำหรับคำตอบโดยคุณพลังวัชร์ เป็นดังนี้

16. พลังวัชร์ [203.156.27.58] 05 Feb 2004 - 23:42 
ตัวเลข ที่ถามถึง มากจากการตัดรอบการคำนวณให้สั้นลงจากคัมภีร์ดั้งเดิม 
กล่าวคือ มาจากเกณฑ์การโคจรของดวงอาทิตย์รอบโลก 
(ในทางโหราศาสตร์ใช้ระบบโลกเป็นศูนย์กลางในการมองและคำนวณ) 
มาจากรอบใหญ่ 1 จตุรยุค = 4,320,000,000 ปี 
"สุริยะ"ได้ "ยาตรา" รอบโลกได้ = 1,577,917,800 วัน 
ดังนั้น ใน 1 รอบปีสุริยยาตร์ จะเท่ากับ 365.25875 วัน หรือ 365 วัน 6 ชั่วโมง 12 นาที 36 วินาที 
ทางโหราศาสตร์ไทย ได้ตัดให้ใช้ในการคำนวณเป็น 292207 กัมมัชพลต่อปีต่ออัตรา 800 กัมมัชพลต่อวัน 
(1 กัมมัช = 1 นาที 48 วินาที หรือ 108 วินาที) 
เมื่อเอา 292207 หารด้วย 800 จะได้ เท่ากับ 365.25875 เช่นกัน 
 จึงกำหนดให้ตั้งจุลศักราชลง เอา 292207 คูณ เอาเกณฑ์ 373 บวก เอา 800 หาร 
ผลลัพธ์จากการหารเป็นหรคุณอัตตา(จำนวนวันนับจากจุดตั้งต้นจุลศักราช) 
ส่วนเกณฑ์ 373 มาจากการตัดการคำนวณมาใช้จากการคำนวณ 
ด้วยกลียุคศักราช มาเป็นแบบจุลศักราช 

ณ วันต้นจุลศักราช 0 = กลียุคศักราช ที่ 3740 
เวลาได้ผ่านมาแล้ว 3739 ปี คูณด้วย 292207 
เท่ากับ 1092561973 
หารด้วย 800 
เหลือเศษอยู่ 373 
 จึงต้องนำเศษที่เหลือจากการ"ตัดศักราช" มาคำนวณร่วมด้วย 
เพื่อให้ได้ค่าที่คำนวณได้ถูกต้อง และต้องต่อเนื่องกันไม่ว่าจะใช้ศักราชใดๆ คำนวณก็ตาม 
 ส่วนเลขเกณฑ์ตัวอื่น ๆ กำลังเรียบเรียงเป็นหนังสือ อยู่ ตามที่ได้แจ้งไว้ช่วงท้ายของกระทู้6341แล้วครับ 
พลังวัชร์ 

และในการทวนสอบเลขเกณฑ์ 373 เพื่อนำย้อนกลับไปเป็นทศนิยมเวลานั้น ถูกคิดทบทวนโดยคุณเกตุ๙ เช่นกันแต่อยู่ในอีกกระทู้หนึ่งคือ กระทู้หมายเลข 5410 เป็นแนวทางการคิดคำนวณสั้นๆเป็นดังนี้

39. เกตุ๙ [210.163.144.211] 28 Feb 2004 - 00:47 
เรียนคุณพลังวัชร์ ผมขออ่านตามไปก่อน ดังนี้ครับ (หากตรงไหนเข้าใจผิด รบกวนทักท้วงด้วยนะครับ) จุลศักราช 0 จะเท่ากับ คริสต์ศักราช638 
สมมุติว่า เรารู้ว่าจุดเริ่มของ เถลิงศกจุลศักราช 0 ตรงกับวันที่ 25 มีนาคม โดยจุลศักราช 0 หรคุณมีค่า 373/800 =0.46625 เทียบได้เป็น 24*0.46625=11.19 ชั่วโมง 60*0.19=11.4 นาที 60*0.4=24 วินาที....เขียนเป็น 11 นาฬิกา 11 นาที 24 วินาที

สำหรับข้อมูลต่างๆเหล่านี้ ผู้เขียนทำหน้าที่รวบรวมให้เข้ามาอยู่ในที่เดียวกันก็เท่านั้น
เพราะเรื่องราวของการวิเคราะห์วิจัยข้อมูล มีผู้รู้ มาวิเคราะห์ให้ เรียบร้อยหมดแล้ว
สำหรับข้อมูลจากเรื่องเล่า ตำนานสุริยยาตร์ ทั้งสองตอนนี้ จะมีและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ต่อการเลือกและตัดสินใจ สำหรับข้อมูลสำคัญ ที่จะนำมาบันทึกต่อไป จากนี้ ว่า ถูก ผิด หรือไม่ ประการใด
พบกันใหม่ ตอนหน้า สวัสดี.

No comments:

Post a Comment