Sunday, November 10, 2019

นพพันนพพวง และ หลักการคิดคำนวณสุริยยาตร์ ตอนที่ 1

นพพันนพพวง และ หลักการคิดคำนวณสุริยยาตร์ ตอนที่ 1 

         ในการอ่านทวนข้อมูลก่อนเก็บ พบข้อคิดเห็นของผู้รู้อีกท่านหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Natty(ปัจจุบัน ท่านบวชเป็นพระไปแล้ว) ได้กล่าวไว้ในความเห็นของประเด็นหัวข้อ สมการสุริยยาตร์ ถึงเรื่องเกี่ยวกับ นพพันนพพวง โดยกล่าวว่า คนในสมัยโบราณ มีความชำนาญและถนัดในการคูณหาร แบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องตรงกับหลักการคิดคำนวณสุริยยาตร์ สร้างความแปลกใจให้กับ ท่านผู้รู้ที่ตั้งประเด็นเกี่ยวกับสมการสุริยยาตร์ ขึ้นมา เป็นอันมาก 
         สำหรับเรื่องความแปลกใจนั้น ไม่น่าจะเกินความคาดหมายนัก เพราะในปัจจุบันนี้ น้อยคนนักที่จะได้ศึกษาหรือเคยเห็นมัน หากไม่เคยได้สัมผัสกับพวกหนังสือเรียนหรือตำราสมัยเก่าๆมาก่อน 
         แต่เห็นว่า ดูท่านจะแปลกใจมาก คงเป็นเพราะไม่เข้าใจว่า นพพันนพพวง ตรงกับหลักคิดคำนวณ สุริยยาตร์ ที่ตรงไหน เนื่องจาก สิ่งนี้ ไม่เคยได้พบเจอกันในจุดที่ท่านได้ศึกษาหรือค้นคว้ามาก็เป็นได้ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร 
         เพราะอันที่จริง เรื่อง นพพันนพพวง นี้ ก็ไม่ได้อยู่ ในหลักวิชาของคัมภีร์สุริยยาตร์ อยู่แล้ว แต่ประการใด 
          แต่... ทว่า มันอยู่ในวิธีการคำนวณให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ต่างๆตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ในคัมภีร์สุริยยาตร์ต่างหาก 

         นั่นเป็นเพราะ ตัวเลขและวิธีการต่างๆในคัมภีร์ มีความสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยขั้นตอนต่างๆจำนวนมาก เฉพาะแต่เลขเกณฑ์ก็มีจำนวนค่าที่มากแล้ว ได้ประมาณ 6 หลัก ไม่นับขั้นตอนการ บวก ลบ คูณ หาร ตามขั้นตอนวิธีการ ให้ได้มาซึ่งค่าต่างๆตามคัมภีร์เหล่านั้นอีก ที่อาจจะทำให้ผลลัพธ์นั้น กลายเป็นเลขที่มีจำนวนหลักมากๆ ได้ถึง 10 หรือ 20 หลัก 
         ด้วยเหตุนี้ ในสมัยก่อน หากผู้เรียนจะคำนวณค่าต่างๆตามคัมภีร์สุริยยาตร์ได้ จำเป็นที่จะต้องผ่านวิชาหรือผ่านวิธีการฝึกหัดคำนวณเลขชุดหนึ่งมาก่อน เพื่อฝึกคนให้พร้อมกับการคำนวณสุดโหดแบบนี้ และสามารถคำนวณได้อย่างรวดเร็วและประหยัดเวลา 
        แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้คนจำนวนหลายคน เพราะการคำนวณต่างๆ ในอดีต ใช้เพียงแค่สมอง สองมือ กับ เวลา เท่านั้น แค่คน คนเดียวอาจไม่พอ และคำตอบที่ได้มา อาจไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ต้องใช้หลายๆคนช่วยกันตรวจสอบ ตรวจทาน เพื่อให้ได้ความถูกต้องที่สุด 
       สำหรับแบบฝึกหัดคำนวณเลขชุดที่ว่านี้ ได้แก่
การหัดทำโจทย์เลขของไทยแบบโบราณ
ซึ่ง มีอยู่ด้วยกัน ทั้งหมด สี่รูปแบบ ได้แก่ นพพัน หันสมุด นพพวง และโคศัพท์
โดย ท่าน อาจารย์ประเสริฐ ณ นคร ได้เคยอธิบายไว้ ในหนังสือของท่าน ว่า
เป็นแบบฝึกหัดการคูณและหารเลข เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถคำนวณเลขได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ท่านยังได้ อธิบายถึง วิธีการทำโจทย์เลขไทยแบบโบราณ ไว้พอสังเขป เป็นดังนี้
นพพัน เป็นแบบฝึกหัดคูณและหารเลขเก้าหลักด้วยเลขสองหลัก
หันสมุด เป็นแบบฝึกหัดคูณและหารเลขเก้าหลักด้วยเลขหลักเดียว
นพพวง เป็นแบบฝึกหัดคูณเลขเก้าหลักด้วยเลขเก้าหลัก
โคศัพท์เป็นแบบฝึกหัดหารเลขโดยใช้เลขตัวเดียว เรียงกันหลายหลักเป็นตัวตั้งแล้วหารกับเลขที่ทำให้หารได้ลงตัวพอดี

Credit: ที่มา: http://www.rsu.ac.th/jla/public/upload/journal/article/abstract/20160630EPSW06.pdf
และ คุณเกนหลงหนึ่งหรัด เจ้าของกระทู้นี้
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/05/K5383822/K5383822.html

ในตอนต่อไป จะเป็นการยกตัวอย่างของการทำโจทย์ทั้งสี่รูปแบบนี้ พร้อมความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องนี้กันอีกนิดหน่อย

พบกันใหม่ ตอนหน้า สวัสดี..

No comments:

Post a Comment