Saturday, November 16, 2019

เรื่องเล่า ตำนานสุริยยาตร์

เรื่องเล่า ตำนานสุริยยาตร์
ก่อนที่จะมีการบันทึกข้อมูลในส่วนต่อไป ขอนำทุกท่านกลับเข้าสู่ บางเรื่องราว ของวัฒนธรรมแบบไทยๆกันก่อน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันและเกี่ยวเนื่องกับ ชุดข้อมูลส่วนต่อไปที่จะนำมาบันทึกต่อ ซึ่งเรื่องราวที่ว่านั้นก็คือ เรื่องของ สงกรานต์ นั่นเอง
เพราะสงกรานต์ นั้น ถือว่า เป็น การขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทย โดยกำหนดจากการย้ายราศีของอาทิตย์จากมีนไปสู่เมษ 0 องศา 0 ลิปดา ให้เป็น วันมหาสงกรานต์ วันเนาว์ และ วันเถลิงศก(วันพญาวัน) ตามลำดับ
ทั้งยังมีประกาศเถลิงศกขึ้นประจำในแต่ละปี ซึ่งค่าต่างๆที่อยู่ในประกาศ ถูกคำนวณขึ้นจากคัมภีร์ สุริยยาตร์
เนื่องจากคัมภีร์นี้ ในปัจจุบัน มีผู้ค้นคว้าจนแตกฉานไปถึงขั้น ถอดรหัส กลไก ต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นคัมภีร์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยวิธีการต่างๆกันไป ทั้งที่ยึดตามคัมภีร์เดิม หรือนำหลักวิชาการสมัยใหม่ มาช่วยเหลือในการค้นคว้า วิจัย ถอดรหัสข้อมูลใดๆ ก็ตาม
แต่ก็มีความจำเป็นสำหรับ ผู้ทำการศึกษาค้นคว้า ที่จะต้องทราบ ปูมหลัง พื้นเพ ความเป็นมา ของสิ่งที่ถูกนำมาสร้างเป็นหลักวิชา และ เกณฑ์การคำนวณ เพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงเหตุผลของเกณฑ์ต่างๆ ก่อนนำเอาหลักวิชาในปัจจุบันเข้ามาช่วยเหลือในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เป็นการป้องกันการหลงทางและหลงประเด็น
เพราะผลลัพธ์ที่ได้ จากสิ่งเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้คำนวณในขั้นตอนหรือในเรื่องอื่นๆต่อไปอีก แน่นอนว่า ถ้ามันผิด ผลที่ได้ในขั้นต่อไป มันก็ผิดอย่างแน่นอน
เอาล่ะ เกริ่นมามากพอแล้ว ไปดู เรื่องราวของสงกรานต์ กันเถอะ

เริ่มต้นจากข้อมูลที่นี่ก่อน https://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์
ตัดตอนมาเฉพาะที่เกี่ยวข้องการคำนวณใน สุริยยาตร์ ดังนี้

การคำนวณวันเถลิงศกนั้น ตามคัมภีร์สุริยยาตร์[5] จะต้องมีการหาหรคุณเถลิงศก และค่าอื่น ๆ สำหรับคำนวณตำแหน่งดาวในปีนั้น ๆ เรียกว่าอัตตาเถลิงศก ทุก ๆ ปี ค่าหรคุณเถลิงศกที่คำนวณได้จะเป็นตัวเลขนับ 1 ที่วันเถลิงศก จ.ศ. 0 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 ตามปฏิทินเกรกอเรียน มาจนถึงปีที่ต้องการ สำหรับกระบวนการหาหรคุณเถลิงศก มีดังต่อไปนี้ 
ตั้งเกณฑ์ 292207 ลง เอาจุลศักราชปีนั้นคูณ ได้เท่าใด เอา 373 บวก แล้วเอา 800 หาร ลัพธ์ (ส่วนที่เป็นคำตอบจำนวนเต็ม) เอา 1 บวก เป็นหรคุณเถลิงศก 

 เอา 800 ตั้ง เอาเศษจากข้อก่อนมาลบ ได้ กัมมัชพลเถลิงศก 

จากขั้นตอนข้างต้น อธิบายได้ว่า ในหนึ่งปีสุริยคติมีเวลาทั้งหมดคิดเป็น 292207 กัมมัช (กัมมัชคือหน่วยย่อยของเวลาในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยที่ 1 กัมมัช = 108 วินาที และ 800 กัมมัช = 1 วัน) ดังนั้นเวลาเป็นกัมมัชนับจากจุดเถลิงศก จ.ศ. 0 มาหาจุดเถลิงศกปีที่ต้องการ ก็หาได้โดยเอา 292207 คูณกับจุลศักราชที่ต้องการทราบ แต่เนื่องจากวันเถลิงศก จ.ศ. 0 เวลาเถลิงศกตรงกับ 11:11:24 นาฬิกา หรือคิดเป็น 373 กัมมัช นับแต่เวลา 0 นาฬิกา จึงเอา 373 บวกเข้ากับผลคูณที่หาไว้แล้ว ผลทั้งหมดที่ได้นี้มีหน่วยเป็นกัมมัช เมื่อจะแปลงเป็นวัน ก็เอา 800 หาร

ใจความสำคัญ อยู่ที่จุดเริ่มต้น คือ จ.ศ. 0 ที่ได้บอกถึง เวลาเถลิงศก ซึ่งเป็นเวลาที่อาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ ณ ตำแหน่ง 0 องศา 0 ลิปดา โดย เมื่อแปลงเป็นเวลาแล้ว ตรงกับ 11:11:24 นาฬิกา หรือ 373 กัมมัช นับตั้งแต่เวลา 0 นาฬิกาเป็นต้นมา
ตรงจุดนี้ ถือเป็นจุดสำคัญ ที่ผู้ค้นคว้า ทุกคนต้องสนใจ เนื่องจาก เป็นสิ่งที่มีมาอยู่ก่อนหน้าที่เราจะนำเกณฑ์คำนวณสุริยยาตร์มาใช้ ทำให้ เมื่อมีการคำนวณในรอบต่อๆไปมา ต้องนำค่าที่มีอยู่ก่อนหน้า เข้ามาคิดรวมด้วย จะตัดทิ้งไม่ได้ มิฉะนั้น ผลลัพธ์การคำนวณ จะผิดเพี้ยนไป

กับอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ชาวต่างชาติท่านหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งเอาไว้เกี่ยวกับคัมภีร์นี้
จากข้อมูลที่นี่ https://th.wikipedia.org/wiki/สุริยยาตร์และมานัต
ซึ่งข้อสังเกตของท่านผู้นี้ ก็คือ ท่าน จิโอวานนี โดมินิโก แคสสินี นักดาราศาสตร์ของฝรั่งเศส (เดิมเป็นชาวอิตาลี) ที่ได้กล่าวไว้ดังนี้

“เพราะเหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินว่า ที่เอา 40 ลิปดาออกเสียจากอาการโคจรของดวงจันทร์ และเอาอาการโคจรของดวงอาทิตย์ออกเสีย 3 ลิปดานั้น เป็นผลเนื่องจากความแตกต่างลางประการระหว่างเส้นเมริเดียนที่ได้ปรับเข้ากับหลักเกณฑ์เหล่านี้ไว้แต่ต้น กับเมริเดียนอีกเส้นหนึ่งที่ได้มีการตัดทอนต่อภายหลัง........ และสมมุติว่าเขาได้ทอนปรับเข้ากับเส้นเมริเดียนของประเทศสยามแล้วไซร้ หลักเกณฑ์อันนี้ก็จะลงกันได้กับหลักเกณฑ์อันแรก อย่างใกล้เคียงกับเส้นเมริเดียนนรสิงห์ (Narsinga) นั่นแล”[4]

ซึ่งสิ่งนี้ อาจแปลได้ว่า มีการปรับแต่งค่าที่ได้จากการคำนวณด้วย สุริยยาตร์ นี้ จากจุดคำนวณเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับจุดพิกัดใหม่ ซึ่งอยู่ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งนี้
แสดงให้เห็นว่า คัมภีร์นี้ ได้รับการสืบทอดและส่งต่อมาจากต้นทางอีกแห่งหนึ่ง ที่ไม่ใช่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เราอยู่ ในทุกวันนี้ (สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นอินเดีย มากกว่า หมายเหตุ:ผู้เขียน)
ถามว่า ทำไม ต้องเน้น ในเรื่องนี้
นั่นเป็นเพราะว่า เกิดความสับสน เรื่องความถูกต้อง จากข้อมูล ที่ผู้เขียนได้รับมาก่อนหน้า และข้อมูลที่พลิกฟ้า หามาได้ในแหล่งข้อมูลสำรองก่อนจะหลุดหายออกไปจากสาระบบ แถมเจ้าของข้อมูลอันหลัง ยังทำการพิสูจน์อย่างเป็นจริงเป็นจังให้แก่ผู้ที่ถามมาอีกด้วย จึงเกิดความไม่แน่ใจขึ้นมา
เพราะข้อมูลที่ได้มานี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ สำหรับเริ่มขั้นตอนการคำนวณอื่นๆ เพราะในการคำนวณเริ่มแรกจะหาจากสิ่งนี้ออกมาก่อน แล้วจึงค่อยต่อยอดไปยังสูตรคำนวณอื่นๆต่อไป(ถ้าผิดที่นี่ ที่อื่นไม่ต้องพูดถึง เพราะผิดแน่นอนอยู่แล้ว)
ในตอนหน้า ยังคงอยู่ในเรื่องราวของตำนาน สุริยยาตร์
แต่จะเป็นเรื่องราวของตัวเลขที่ปรากฎอยู่ในการคำนวณ สุริยยาตร์ นั่นคือ เลข 373
แล้วพบกันใหม่ สวัสดี.

No comments:

Post a Comment