Monday, November 9, 2020

บทส่งท้าย สมการมัธยมอาทิตย์เจ้าปัญหา ต้นทางมาแบบไหน ก็คือ แบบนั้นนั่นแหละ

บทส่งท้าย สมการมัธยมอาทิตย์เจ้าปัญหา ต้นทางมาแบบไหน ก็คือ แบบนั้นนั่นแหละ 

จำได้ว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดเวบมา ดูจะเสียเวลาไป สับสน มึนงง และลงทุนลงแรง ไปกับการพิสูจน์ซ้ำซากกับสมการมัธยม สุริยยาตร์เป็นอันมาก 
สาเหตุ เป็นเพราะว่า มีชุดสมการอยู่สองตัวที่เก็บมาได้ อันหนึ่ง เก็บได้เมื่อนานมาแล้ว เป็นแบบ A 
ส่วนอีกอันหนึ่ง เก็บมาได้ทีหลัง และเป็นก้อนข้อมูลสุดท้าย ก่อนที่จะหายไปจากสารบบการค้นหาข้อมูล เนื่องจากเจ้าของเวบต้นทาง ทิ้งการดูแลรักษาข้อมูลในส่วนนี้ไปแล้ว ขอเรียกมันว่า ชุดสมการแบบ B 
ด้วยเห็นว่า เป็นสมการสำคัญ เพราะเป็นต้นทางของการคำนวณตามระบบคัมภีร์สุริยยาตร์ มันจึงผิดไม่ได้ สองในสามของข้อมูลหน้าเวบ จึงเต็มไปด้วยการค้นหาข้อมูล เพื่อหาว่า อันไหนที่ข้าพเจ้ามีอยู่นั้น มันถูกกันแน่ 
ในระหว่างนี้ ก็ยังมีความสับสนอยู่ อันเนื่องมาจากว่า ข้อมูลชุดหลังนี้ มีการพิสูจน์รับรองเป็นอย่างดี จากท่านผู้รู้ ผู้เป็นเจ้าของข้อมูลอีกด้วย 
ในท้ายที่สุด ข้อสรุปที่ได้ออกมาในตอนนั้น ก็คือ แบบ A นี่แหละ ที่เป็นไปตามตำราเดิมและสอดคล้องกับที่มา รวมทั้งเรื่องของหรคุณที่ใช้งานสำหรับสมการแบบ A นี้ด้วย 
อย่างไรก็ดี เพราะว่า ข้อมูลในแบบ B นั้น ได้หลุดออกไปก่อนหน้านี้ก็เยอะ และส่งผลกระทบไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับบางท่านที่นำไปใช้ทำกรณีศึกษาต่อ จึงต้องเสียเวลามานั่งทำข้อมูลให้ใหม่ ทั้งหมด เพื่อชี้ให้เห็นว่า ผิดตรงไหน อะไรยังไง พร้อมทั้งหาหนทางแก้ไข ให้ค่าที่คำนวณได้นั้นกลับมาเท่ากันได้ 
แต่สุดท้ายแล้ว ผู้เขียนก็พลาดจนได้ เมื่อเจอกับหลุมพรางของหรคุณเข้า ทำให้แน่ใจว่า สมการแบบ B นี่ น่าจะใช้ไม่ได้แล้ว 
จากนั้น ผู้เขียนก็ได้วางแนวทางแก้ไขไว้ประการหนึ่ง โดยอาศัยความสัมพันธ์ของ Julian Date กับหรคุณสุริยยาตร์ แทนที่ลงไปในพจน์เจ้าปัญหานั่น ก็คือ ตัวแปร hd ตัวเดียวโดดๆ นั่นแหละ แล้วลองแทนค่าดู แต่พบว่าใช้ไม่ได้ 
จนกระทั่งเอะใจ และลองเอาค่าเศษเวลาเถลิงศกที่ถูกตัดหายออกไปนั้น ใส่กลับเข้าไปแทน 
ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา มีค่าเท่ากับสมการที่ได้จากข้อมูลชุดเดิมที่ตัวเองมีคือ แบบ A 
เป็นอันสรุปอวสาน เพราะว่ารูปแบบที่เห็น มันก็คือ สมการชุดเดียวกันนั่นเอง เพียงแค่เปลี่ยนตัวแปรเฉยๆ จาก hd เป็น JD ลบ ค่าแก้แทน 
บทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้ก็คือว่า สมการมัธยมอาทิตย์แบบ B ที่ถูกตัดพจน์สำคัญหายไปนั้น ไม่มีอยู่จริง น่าจะเกิดจากความหลงลืมในการบันทึกข้อมูลและหลุมพรางความเข้าใจผิดในสูตรหาหรคุณของท่านผู้รู้เจ้าของข้อมูล จึงนำมาซึ่งปัญหาต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 
สรุปง่ายๆก็คือ สมการมัธยมอาทิตย์ ที่ใช้งานได้จริง มีเพียงรูปแบบเดียวคือ 
สมการที่มีพจน์ 373/800 ปรากฎอยู่ และหรคุณที่ใช้งานกับระบบสมการที่ว่ามานั้น ต้องเป็นหรคุณเที่ยงคืนวันประสงค์ เท่านั้น ค่าที่ได้จึงจะออกมาถูกต้อง 
หากต้องการใช้ หรคุณจาก JD ต้องนำมาลบค่าแก้เสียก่อน เพื่อทำให้เป็นหรคุณในระบบสุริยยาตร์ ก่อนจะนำไปใช้งานต่อไป

บทส่งท้าย พิสูจน์ให้เห็นในรูปแบบของสมการ


จาก

รูปแบบของสมการสุริยยาตร์รูปแบบ A ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง


มัธยมอาทิตย์ = (360/(292207/800))*(hd-373/800) - 3/60  สมการ A

และ

รูปแบบของสมการสุริยยาตร์รูปแบบ B ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

มัธยมอาทิตย์ = 360*800*(hd/292207) - 3/60  สมการ B

เมื่อเปลี่ยนตัวแปร hd เป็นสูตรความสัมพันธ์ระหว่าง Julian Date กับหรคุณสุริยยาตร์ ดังนี้คือ

hd = (JD เที่ยงคืน-194167.5)

ลงไปในสมการ จากนั้น ตามด้วยการหักลบกับเศษเวลาก่อนเถลิงศกคือ 0.46625 หรือ

หากเขียนในรูปเศษส่วนคือ 373/800

รูปแบบสมการใหม่ที่ได้จะเป็นดังนี้

มัธยมอาทิตย์ = 360*800*(((JD เที่ยงคืน-194167.5)-0.46625)/292207) – 3/60

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรูปแบบกันแล้ว ก็คือ สมการแบบ A นั่นเอง ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

เป็นอันสรุป อวสาน สมการมัธยมอาทิตย์แบบ B ด้วยประการฉะนี้

ถึงตอนนี้ ขอจบเรื่องราวที่เป็นประเด็นปัญหาคาใจ สำหรับการใช้งานสมการสุริยยาตร์ของท่านผู้รู้ กันจริงๆเสียที

กล่าวโดยสรุป ก็คือ ไม่มีสมการแบบตัดพจน์ 373/800

เพื่อป้องกัน การนำผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจากสมการแบบตัดพจน์ 373/800 นี้ ไปใช้สำหรับการอ้างอิงเพื่อที่จะนำไปใช้งานต่อ หรือเผยแพร่ ออกไปเป็นวงกว้าง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดมันขึ้นมา น่าจะเกิดจากความหลงลืมในการบันทึกข้อมูลและหลุมพรางความเข้าใจผิดในสูตรการหาหรคุณของท่านผู้รู้เจ้าของข้อมูล จนเกิดปัญหาต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

พบกันใหม่ ตอนหน้า สวัสดี.

No comments:

Post a Comment