Monday, April 26, 2021

Temple Boxing Proof พิสูจน์ สมการสุริยยาตร์ของท่านผู้รู้แบบบ้านๆ ภาคอารัมภบท

 Temple Boxing Proof พิสูจน์ สมการสุริยยาตร์ของท่านผู้รู้แบบบ้านๆ ภาคอารัมภบท

เรื่องนี้ เป็นแนวทางพิสูจน์สร้างสมการมัธยมอาทิตย์และมัธยมจันทร์ ที่ทำไว้ เมื่อราว 1 ปีก่อน  เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเล็กๆเนื่องจากเป็นแนวทางแรกที่สามารถพิสูจน์ออกมาได้ และได้นำแนวทางจากการพิสูจน์สร้างสมการมัธยมอาทิตย์นี้ไปเป็นรากฐานเพื่อใช้ในการพิสูจน์สร้างสมการมัธยมจันทร์ในเวลาต่อมาด้วย ก่อนที่จะมีการคิดวิธีพิสูจน์สำหรับสมการมัธยมอาทิตย์ได้ในอีกแนวทางหนึ่งคือการคิดตามเกณฑ์เก่าทั้งหมดร่วมกับการใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเข้าช่วย ซึ่งก็ถือเป็นวิธีการพิสูจน์อีกแนวหนึ่ง แต่ให้ผลลัพธ์ออกมาแบบเดียวกัน (อันนี้ เฉพาะมัธยมอาทิตย์นะครับ ส่วนมัธยมจันทร์นี้ ยังไม่สามารถ)

สำหรับพื้นฐานที่ใช้สำหรับการพิสูจน์สร้างสมการ จะเป็นการพิสูจน์ด้วยวิธีการเชิงวงรอบร่วมการพิจารณาตัวแปร มิติ หน่วย ต่างๆ ในตัวสมการ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง การใช้เกณฑ์หลักคิดวงรอบของตัวคัมภีร์ร่วมกับวิธีการวิเคราะห์มิติของตัวแปรในวิชาฟิสิกส์ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบสมการ กล่าวคือถ้าหากเป็นสมการที่คิดมาถูกต้องแล้ว ทั้งสองข้างของสมการจะต้องมีมิติเดียวกัน(หน่วยเดียวกัน)

สมการมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์

แนวคิดที่ใช้

สร้างสมการจากวงรอบตามเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์

ใช้หลัก ความสัมพันธ์ระหว่างหรคุณกับรอบปีจุลศักราช ร่วมกับ การพิจารณามิติของค่าอัตราส่วน 292207/800 โดยที่มาของอัตราส่วน มาจาก 1 ปี มี 292207 กัมมัช และ 1 วัน มี 800 กัมมัช

ฉะนั้น 1 ปี มี 292207/800 วัน คิดเป็นเลขทศนิยมปัจจุบันคือ 365.25875 วัน 

และปรับให้ใช้ได้กับหรคุณเที่ยงคืนวันประสงค์ใดๆ(หรคุณ 0 น. หรือหรคุณเที่ยงคืน)

จากนั้น เมื่อได้จำนวนรอบ ณ J ปี ในรูปแบบจำนวนจริงแล้ว ให้หักรอบเต็ม ณ  J ปีนั้น ออก
เหลือเพียงแต่เศษของรอบในรูปขององศา พร้อมกับหักค่าปรับแก้ตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์สุริยยาตร์

เท่านี้ เราก็จะได้ สมการของมัธยมอาทิตย์สุริยยาตร์ สำหรับใช้คำนวณในรอบปีนั้นๆ มาใช้งานแล้ว

 *****************************************

สมการมัธยมจันทร์สุริยยาตร์

แนวคิดสันนิษฐาน:

ยึดแนวทางการสร้างสมการ มัธยมอาทิตย์ จาก วงรอบ ตามสูตรของคัมภีร์สุริยยาตร์

แต่เปลี่ยนวงรอบจากการคิดของอาทิตย์ไปเป็นของจันทร์แทน

จากการหามัธยมอาทิตย์ที่ผ่านมา

เราพบว่า มีเกณฑ์โคจรของอาทิตย์ต่อรอบปี คือ 292207/800 ปรากฎอยู่อย่างชัดเจนในตำรา แต่เกณฑ์โคจรของจันทร์ นั้นต่างออกไป เพราะว่า ตัวเลขต่างๆ ถูกวางหลบซ่อนไว้ตามการคำนวณต่างๆในขั้นตอนของการหามัธยมจันทร์

ตามข้อสันนิษฐานของผู้เขียนคือ น่าจะมีความสัมพันธ์แบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างหรคุณกับรอบปีจุลศักราช ซ่อนอยู่ แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง หรคุณกับ เรื่องของรอบเดือน

เมื่อพิจารณาจากส่วนหนึ่งของเกณฑ์เก่าที่ใช้หามัธยมจันทร์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งมีข้อความปรากฏดังต่อไปนี้

ตั้ง หรคุณอัตตาลงเป็นสองฐาน ฐานบนเอา ๑๑ คูณ เอา ๖๕๐ บวก แล้วเอา ๖๙๒ หาร เศษเป็น "อวมานอัตตา"ลัพธ์ซึ่งหารได้นั้น เอาไปบวกด้วย หรคุณอัตตาฐานต่ำ     แล้วเอา ๓๐ หาร เศษเป็น "ดิถีอัตตา"ลัพธ์เป็น "มาสเกณฑ์อัตตา"

เมื่อพิจารณาดูแล้ว ไม่พบว่า มีการใช้ค่าเลขตัวนี้ในเกณฑ์เก่าสำหรับการหามัธยมจันทร์ แต่ลัดตัดไปที่สุรทินอัตตา อวมานและดิถีประสงค์กันเลย

ดังนั้น หากนำเอาหลักการของวงรอบมาปรับใช้ในเรื่องของเดือนจึงน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของมาสเกณฑ์ อย่างที่สุด เพราะดูแล้วไม่มีจุดอื่นใดที่เกี่ยวข้องในรูปแบบเดือน  

จากนั้น จึงได้พุ่งเป้าไปที่เรื่องของมาสเกณฑ์ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ก็ได้อิงความสัมพันธ์จากค่าที่ใช้อยู่ในเกณฑ์เก่า ซึ่งได้แก่ อวมานและดิถีประสงค์ สร้างเป็นสมการประกอบไว้ด้วย

อาศัยการตีความจากตัวสมการที่สร้างขึ้นและใช้หลักของการหารที่หมายถึงการแบ่งส่วนขนาดใหญ่ใดๆออกเป็นส่วนย่อยๆที่มีขนาดตามที่กำหนดเป็นอย่างละเท่าๆกัน(ในที่นี้ คือ การแบ่งเป็น 30 ส่วน ซึ่งเป็นความเข้าใจพื้นฐานโดยประมาณของรอบเดือน) ทำให้พบความสัมพันธ์เชิงวงรอบการโคจรของจันทร์ออกมา

รวมถึง ค่าของการแบ่งส่วนย่อยของวันตามรอบโคจรของจันทร์ ที่ปรากฏออกมา พร้อมกับส่วนเกินของรอบที่หมุนไปเพื่อให้ทันกับการหมุนของโลกด้วย

เมื่อได้สมการความสัมพันธ์เชิงวงรอบการโคจรของจันทร์ออกมาแล้ว จึงปรับมาเป็นความสัมพันธ์เชิงหรคุณแทนอีกทอดหนึ่ง (แต่ในตอนพิสูจน์สร้างนั้น จะมีค่าตัวแปรเกี่ยวกับหรคุณนี้ติดมาด้วยอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหานัก)
           นอกจากนี้ ยังต้องบังความซับซ้อนของพจน์ต่างๆในสมการ เพื่อแปรให้กลายเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์เชิงหรคุณอีกด้วย

          หลังจากการสร้างสมการจากความสัมพันธ์ดังกล่าว ผลสรุปของสมการที่ได้ก็เป็นดังแสดงไว้แล้วก่อนหน้านี้ คือ สำเร็จเป็นรูปแบบของสมการมัธยมจันทร์สุริยยาตร์ อย่างที่ทุกท่านได้เห็นไปแล้วนั่นเอง.

 

 

No comments:

Post a Comment